ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม
ประชาชนในตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ก็ได้มีขนบธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับประชาชนของภาคอีสานที่ดำรงวิถีชีวิตมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีโครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์บนพื้นฐานความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนานแนวความคิด ความศรัทธาและความเชื่อที่ได้สั่งสมสืบทอดเป็นมรดกกันมา ยังปฏิบัติต่อเนื่องกันมาแม้ว่าบางกรณี จะเสื่อมสูญไปบ้าง แต่มีอีกหลายพิธีกรรมยังมีการสืบสานกันมาอย่างแน่นเฟ้นจนถึงปัจจุบัน เช่น บุญบั้งไฟ บุญกฐิน
ศาสนา ความเชื่อ สิ่งยึดเหนี่ยวและข้อห้ามต่าง ๆ ของประชาชน
ประชาชนตำบลดงลานนับถือพุทธศาสนา มีประเพณีที่คล้ายกับชุมชนอีสานส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมที่สืบทอดต่อเนื่องเป็นมรดกมายาวนาน มีความผูกพันกับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น เกิดการสั่งสมความคิด ภูมิปัญญา ศรัทธา ความเชื่อหลายรูปแบบ เชื่อในเรื่องบุญ – บาป - ขวัญ - วิญญาณ เทวดา - ผี เป็นต้น และยังมีอาชีพทำไร่ ทำนาปลูกข้าวเพื่อเป็นอาหารประจำวัน และหากได้ข้าวมากก็แบ่งขายให้ได้เงินมาใช้จ่ายในครัวเรือนต่อไป และเชื่อว่าข้าวเป็นพืชที่มีพระคุณ มีวิญญาณหรือขวัญประจำอยู่ด้วย วิญญาณหรือขวัญนี้ เรียกว่า “ เจ้าแม่โพสพ ” ดังนั้น เมื่อผู้ใดทำนาได้ข้าวมาก ก่อนหาบหรือขนข้าวมาสู่ยุ้งฉางหรือเล้า มักทำบุญเพื่อเป็นศิริมงคลเพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัวสืบไป และเป็นการอันเชิญขวัญข้าว คือ “ เจ้าแม่โพสพ ” ให้มาอยู่ประจำข้าว หากข้าวมีขวัญอยู่ประจำก็เชื่อว่า การกินขวัญจะไม่สิ้นเปลืองจะทำนาได้ดีในปีต่อไป ซึ่งเมื่อชาวนาในพื้นถิ่นอีสานก็เกี่ยวข้าวเสร็จจะมัดข้าวที่เกี่ยวเป็นมัดหรือเรียกว่า “ฟ่อน” และนำมากองไว้รวมกันที่ลานตีข้าว หรือนวดข้าว เพื่อนวดข้าวและเมื่อนวดข้าวเสร็จก็นิยมนำกองข้าวที่นวดแล้วทำให้สูงขึ้นจากพื้นลานเรียกว่า “ คูณลาน ” ผู้ที่ได้ข้าวมากก็มักจัดทำบุญกองข้าวขึ้นที่ลานชาวอีสานเรียกว่าบุญคูณลานนับเป็นประเพณีอย่างหนึ่งใน “ ฮีตสิบสอง ” เป็นต้น